Robotic Process Automation (RPA) คืออะไร?
Robotic Process Automation (RPA) คืออะไร? เหมาะกับธุรกิจแบบไหน? อุตสาหกรรมอะไรนำไปใช้บ้าง? จบทุกข้อสงสัยได้ในบทความเดียว สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักกับเทคโนโลยี RPA มาก่อน บทความนี้จะไขทุกข้อสงสัยให้คุณ พร้อมจะนำไปประเมินได้ว่าธุรกิจของคุณเหมาะกับการเริ่มต้นใช้งาน RPA หรือไม่ และอย่างไร
การให้มนุษย์ทำงานซ้ำๆ: ล่าช้า, ผิดพลาด และพนักงานไม่มีความสุข
โดยปกติแล้วเมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตมากขึ้น การทำงานที่เป็นกระบวนการในธุรกิจรูปแบบต่างๆ นั้นก็ย่อมต้องถูกปรับให้เป็นมาตรฐานและมีระบบระเบียบมากขึ้น เริ่มมีการนำระบบ Software ต่างๆ มาใช้งานในแต่ละแผนกมากขึ้น ทำให้ต้องเริ่มมีกระบวนการในการจัดการด้านการป้อนข้อมูลในธุรกิจทั้งสำหรับแต่ละ Software หนึ่งๆ หรือรับส่งข้อมูลข้าม Software มากขึ้น จนเมื่อถึงจุดหนึ่งธุรกิจนั้นๆ ก็จะเต็มไปด้วยกระบวนการการทำงานซ้ำๆ มากมาย และงานเหล่านั้นก็ตกเป็นของพนักงานแต่ละแผนกภายในธุรกิจนั้นๆ นั่นเอง
กระบวนการด้านการจัดการข้อมูลเหล่านี้เองที่ได้เริ่มกลายเป็นภาระของหลายๆ องค์กรในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากกระบวนการเหล่านี้ที่ต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นรายวัน, รายสัปดาห์ หรือรายเดือนนั้นถือเป็นงานใหญ่ที่ผิดพลาดไม่ได้ และปริมาณข้อมูลก็มากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของธุรกิจ แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ ความผิดพลาดในการป้อนข้อมูลนี้ก็เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ และด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาล กับข้อจำกัดทางด้านเวลาในการทำงาน ก็ทำให้ความเครียดในการทำงานเกิดขึ้น มีความผิดพลาดมากขึ้น และความสุขในการทำงานน้อยลง ส่งผลต่อให้พนักงานทำงานแย่ลงหรือลาออกไป และกลายเป็นปัญหากลับมาสู่ธุรกิจในที่สุด
ปัญหาเหล่านี้ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่หลากหลายธุรกิจต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนในที่สุดก็เริ่มมีการพัฒนาโซลูชันขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ นั่นก็คือการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยทำงานซ้ำๆ แทนพนักงานแต่ละคน เพื่อให้พนักงานแต่ละคนได้ไปทำงานอื่นที่มีความสุขและเครียดน้อยกว่าแทน นั่นก็คือ RPA นั่นเอง
มารู้จักกับการทำงานของ RPA กันก่อน
RPA ย่อจาก Robotic Process Automation ซึ่งก็เป็นชื่อที่สื่อตรงตามความหมายของโซลูชันนี้ที่นำคอมพิวเตอร์มาทำงานอัตโนมัติในกระบวนการการทำงานรูปแบบต่างๆ
หากจะนิยามโดยย่อแล้ว RPA ก็คือโปรแกรมที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างหุ่นยนต์หรือ Bot ขึ้นมาทำงานต่างๆ ตาม Pattern ที่กำหนดเอาไว้ได้ โดย Bot แต่ละตัวที่สร้างขึ้นมานั้นก็จะทำงานได้ตาม Pattern ที่ถูกกำหนดเอาไว้แตกต่างกันไป เพื่อนำไปใช้ในการทำงานซ้ำๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้แทนที่พนักงานจะต้องทำงานนั้นๆ ด้วยตนเอง ก็เรียกใช้งาน Bot ให้ทำงานนั้นๆ แทนตนเองได้
ตัวอย่างของ RPA นั้นมีหลากหลาย เช่น
- การตรวจสอบข้อมูลในระบบ Website เพื่อนำข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือสนใจมาป้อนในระบบต่างๆ ของธุรกิจ เช่น การสำรวจข้อมูลทางการตลาด, การรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าในตลาด เป็นต้น
- การอ่านข้อมูล Email เพื่อนำข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละธุรกิจไปป้อนลงระบบต่างๆ เช่น Customer Service, CRM และอื่นๆ หรือนำข้อมูลจากในระบบดังกล่าวมาสร้างเป็น Email โต้ตอบลูกค้าโดยอัตโนมัติ
- การนำข้อมูลจากเอกสารหลายแหล่งมาตัดเฉพาะส่วนที่สนใจ บันทึกลงฐานข้อมูลหรือสร้างเป็นรายงานต่างๆ ได้ตามต้องการ
- การนำข้อมูลจากระบบต่างๆ ในธุรกิจ เช่น ERP, MRP, CRM, Warehouse Management, Logistics, POS มาป้อนใส่ระบบอื่นๆ เพื่อทำการรับส่งข้อมูลระหว่างระบบได้โดยอัตโนมัติอย่างง่ายดาย ซึ่งระบบเหล่านั้นอาจไม่มี API ให้ใช้งาน และต้องมีการ Login เพื่อเข้าถึงระบบต่างๆ กัน
- และอื่นๆ อีกมากมาย
RPA นั้นสามารถช่วยให้กระบวนการเหล่านี้มีความเร็วสูงขึ้นได้หลายเท่า และยังสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีความผิดพลาดน้อยจนถึงขั้นอาจไม่มีความผิดพลาดเลย ในขณะที่หากธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้นจนมีข้อมูลปริมาณมากขึ้น ธุรกิจก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพหรือจำนวนของระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย และหากมีกระบวนการหรืองานใหม่ๆ ที่สามารถแปลงให้ทำโดยอัตโนมัติด้วย RPA ได้ ธุรกิจนั้นๆ ก็สามารถเพิ่มระบบคอมพิวเตอร์มารองรับงานเหล่านั้นได้เพิ่มขึ้นทันทีหากต้องการ
การนำ RPA มาใช้งานนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเปลี่ยนให้งานจำนวนมากเป็นไปได้แบบอัตโนมัติและรวดเร็วกว่าเดิมแล้ว ในประเด็นด้าน Security เองก็ถือว่าสำคัญเช่นกัน เพราะ RPA นั้นจะช่วยลดโอกาสที่ข้อมูลของธุรกิจจะรั่วไหลออกไปภายนอกลง เพราะพนักงานนั้นจะมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลน้อยลงไปด้วย
เปลี่ยน Business Process ที่เคยมีอยู่ให้เป็นอัตโนมัติด้วย RPA
ในอดีตที่ผ่านมานั้น RPA มักถูกนำมาใช้เพื่อแปลงกระบวนการการทำงานซ้ำๆ ที่มีอยู่เดิมให้เป็นอัตโนมัติเพื่อลดภาระการทำงานของพนักงานเป็นหลัก โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องมีกระบวนการด้านงานเอกสารมากมาย อย่างเช่น ธุรกิจด้านธนาคารและการเงิน, ธุรกิจประกันภัย, งานภาครัฐ และอื่นๆ ซึ่ง RPA จะรับบทบาทหลักๆ ด้านการรับส่งข้อมูลระหว่าง Application ของธุรกิจเหล่านั้น ซึ่งในอดีตระบบงานแต่ละส่วนนั้นมักเป็นระบบแยกขาดจากกัน เพราะธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นมักมีการใช้งาน Software ที่มีจุดเด่นเฉพาะทางในแต่ละส่วนที่แตกต่างกันไปร่วมกัน
นอกจากนี้ การจัดการเอกสารรายงานต่างๆ ตามข้อกำหนดทางกฎหมายหรือ Compliance ต่างๆ นั้นก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ การนำ RPA มาใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้สร้างเป็นเอกสารให้พร้อมสำหรับการทำ Audit ได้อย่างต่อเนื่องนั้นก็เป็นอีกกระบวนการที่ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการการทำงานได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้การ Audit เป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
ในธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งที่มีเอกสารจำนวนมากอย่างเช่นธนาคารนั้น อาจมีการตั้งทีมงานสำหรับดูแลรับผิดชอบการสร้าง Bot ภายในระบบ RPA โดยเฉพาะ เพื่อให้พนักงานภายในองค์กรเองนั้นสามารถพูดคุยประชุมเพื่อจัดสร้าง Bot สำหรับทดแทนการทำงานในแแผนกต่างๆ ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องประเด็นด้านการเข้าถึงข้อมูลจากบุคคลภายนอกองค์กร และช่วยให้การทำงานทั้งหมดรวดเร็วและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น สร้าง Bot ได้อย่างต่อเนื่อง และมีองค์ความรู้ด้านการทำ RPA ภายในองค์กรเพิ่มเติมได้
Bot ที่ถูกสร้างโดย RPA นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ Attended RPA ที่จะทำงานก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานสั่งการเท่านั้น เพื่อช่วยทำงานต่างๆ ตามที่ผู้ใช้งานต้องการในเวลาที่ต้องการ ในขณะที่ Bot อีกแบบหนึ่งนั้นก็คือ Unattended RPA ที่ทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำงานต่างๆ ที่อาจจะมีขนาดใหญ่หรือต้องการประมวลผลทันทีที่มีการอัปเดตใดๆ เกิดขึ้นในระบบ
RPA ในปี 2019: ผสานเทคโนโลยี AI ให้ RPA ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี RPA แบบเดิมๆ นั้นก็มีข้อจำกัดด้านการทำงานอยู่ ว่า Bot ที่มีอยู่นั้นมักทำงานได้ตาม Pattern ตายตัวซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะที่ธุรกิจในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เกิดกระบวนการการทำงานรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อลองผิดลองถูกหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น มีเอกสารรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานนั้นมี Pattern ที่หลากหลายยิ่งขึ้น และยากต่อการสร้าง Bot ให้รองรับต่อการทำงานของแต่ละแผนกมากขึ้นเหล่าผู้พัฒนา RPA จึงได้เริ่มมองหาหนทางการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการนำ Artificial Intelligence หรือ AI เข้ามาผสานกับการทำ RPA อย่างเช่นการนำเทคโนโลยี Text Analytics หรือ Image Recognition เข้ามาใช้ช่วยในการอ่านเอกสารทางการเงินต่างๆ และดึงข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออกมาป้อนเข้าไปยังระบบต่างๆ โดยอัตโนมัติ ทำให้ RPA สามารถอ่านข้อมูลจากเอกสารที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัวได้ เป็นต้นแนวโน้มนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และ AI ก็ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมและการพัฒนา AI ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ตามที่มีข้อมูลให้พร้อมพัฒนา AI ไปได้ ดังนั้นหลังจากนี้การนำ AI มาใช้งานร่วมกับ RPA ก็จะถือเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการเลือกใช้เทคโนโลยี RPA ในทุกวันนี้ในมุมของพนักงาน การปรับตัวเพื่อเปิดรับ RPA และ AI ในฐานะของเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ถือเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ศาสตร์ทั้งสองและทดลองใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดความเชี่ยวชาญ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้ได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจจะเริ่มต้นใช้งาน RPA กับงานแบบไหนบ้าง?สำหรับตัวอย่างของการเริ่มต้นใช้งาน RPA ในธุรกิจต่างๆ ก็มักเริ่มต้นจากการมองหาหนทางในการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้
- เริ่มต้นจากการแก้ไขกรณีการใช้งานเฉพาะทางอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการป้อนข้อมูลปริมาณมหาศาลหรือการย้ายข้อมูลข้ามระบบงานต่างๆ เพื่อให้เห็นกรณีความสำเร็จนี้ก่อนเริ่มต้นนำไปใช้กับกรณีอื่นๆ ในภายหลัง
- มองหาแนวทางการจัดการเอกสารและข้อมูลต่างๆ ให้มีความรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น และลดปัญหาการที่พนักงานลาออกจากการทำงานที่ซ้ำซากลง
- ริเริ่มการก้าวสู่ธุรกิจ 4.0 ด้วยการเริ่มต้นให้พนักงานได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงงานของตนเองให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นก้าวแรกๆ สู่การนำเทคโนโลยีมาใช้งานมากขึ้นในอนาคตให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เป็นก้าวแรกในการทำ Digital Transformation ภายในองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในธุรกิจให้ดีขึ้น โดยมี RPA เป็นจุดเริ่มต้น เป็นทีมงานจริงจังในการปรับปรุงกระบวนการด้านการจัดการเอกสารและข้อมูล
โดยขั้นตอนในการนำ RPA ไปใช้งานในธุรกิจก็มีหลายระดับ ได้แก่
- เริ่มต้นให้ความรู้ด้าน RPA กับแผนกต่างๆ ภายในองค์กร ตั้งแต่การทำความรู้จักในเชิงเทคนิค, การค้นหาความต้องการและกรณีการใช้งานที่เหมาะสมกับธุรกิจในองค์กร, การทำความรู้จักกับเครื่องมือ RPA ในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการทำให้แผนก HR เข้าใจในแนวโน้มของเทรนด์ด้านการทำธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากการมาของ RPA เพื่อให้การรับพนักงานใหม่นั้นเหมาะสมต่อวิสัยทัศน์ในอนาคตของธุรกิจ
- กำหนดตัวผู้นำด้านการนำระบบ RPA จากแผนกต่างๆ และคัดเลือกกรณีการใช้งานที่เหมาะสมจะนำมาเป็นจุดเริ่มต้น พร้อมกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการทดลอง RPA ให้ชัดเจน
- ให้ผู้พัฒนาระบบ RPA มานำเสนอเทคโนโลยีและทำความรู้จักในแง่มุมต่างๆ ทั้งความง่ายในการใช้งาน, ความมั่นคงปลอดภัย, การใช้งานในระยะยาวเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และแนวทางการเรียนรู้เทคโนโลยี RPA อย่างต่อเนื่อง
- เริ่มทดสอบการใช้งาน RPA ในธุรกิจ เพื่อให้ทีมงานได้มีประสบการณ์และทำความเข้าใจในการทำ RPA จริงในธุรกิจ
- เริ่มใช้งาน RPA จริงในโครงการทดสอบที่คัดเลือกมา จนโครงการนี้ประสบความสำเร็จและกลายเป็นโครงการต้นแบบให้กับแผนกต่างๆ ของธุรกิจได้นำไปศึกษาและต่อยอด
- เมื่อมีแผนการใช้ RPA มากขึ้นในธุรกิจแล้ว ก็ต้องมีการสร้าง RPA Center of Excellence (CoE) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาระบบ RPA สำหรับรองรับการใช้งานจริงในแผนกต่างๆ และดูแลรักษาระบบ RPA ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในทุกแผนกแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงานหรือรูปแบบของเอกสารในอนาคต
- ขยายโครงการ RPA ให้ครอบคลุมกระบวนการการทำธุรกิจในส่วนอื่นๆ มากขึ้น และเลือกกระบวนการใหม่ๆ มาปรับให้เป็นอัตโนมัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- ก้าวสู่การทำ Digital Transformation อย่างเต็มตัว จากการที่ RPA ช่วยเปลี่ยนกระบวนการการทำงานให้กลายเป็น Digital มากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้พนักงานในแต่ละแผนกมีเวลาในการไปทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับทีมงานที่จะดูแลระบบ RPA นี้ จะต้องมีทั้งฝั่งธุรกิจเพื่อกำหนดทิศทางและเลือกกระบวนการต่างๆ มาทำ, มีแผนก IT เพื่อช่วยตระเตรียมระบบเบื้องหลังเพื่อรองรับการทำงานของ Bot ใหม่ๆ และช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระบบต่างๆ รวมถึงยังต้องมี Developer เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Bot ที่มีความซับซ้อนสูง รองรับ Application เฉพาะทางหลากหลายที่มีอยู่เดิมให้ได้
RPA สำหรับงานเฉพาะทางในแต่ละอุตสาหกรรม: มารู้จักกับการนำ RPA ไปใช้งานในกรณีศึกษาต่างๆ
ปัจจุบันธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมก็มีการนำ RPA มาใช้งานในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- ธนาคารและการเงิน ใช้ RPA ในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ โดยอัตโนมัติ, ย้ายข้อมูลข้ามระบบ Application ของธนาคาร, ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าของธนาคาร, การสร้างรายงานต่างๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจธนาคารและการเงิน, เปรียบเทียบข้อมูลการเงินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่างๆ, การอัปเดตข้อมูลการกู้เงิน และอื่นๆ อีกมากมาย
- ธุรกิจค้าปลีก ใช้ RPA ในการจัดการข้อมูลสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงจาก Supplier ซึ่งถูกส่งมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป, รวบรวมข้อมูลและเปรียบเทียบราคาจากเว็บไซต์ของพาร์ทเนอร์และคู่แข่ง, จัดการข้อมูลคลังสินค้า ไปจนถึงการจัดการข้อมูลด้านการตลาดและข้อมูลของลูกค้า
- ธุรกิจโรงงานและการผลิต ใช้ RPA ในการจัดการข้อมูลคลังสินค้า, การขนส่ง, การตรวจสอบข้อมูลจาก Supplier และเปรียบเทียบราคาจาก Supplier หลายเจ้าโดยอัตโนมัติ
- ภาครัฐ ใช้ RPA ในการจัดการข้อมูลจากแบบฟอร์มต่างๆ มาป้อนในระบบงานหลากหลายโดยอัตโนมัติ, ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในระบบ, ผสานระบบเก่าๆ เข้ากับ Application ที่เพิ่มมีการพัฒนาใหม่ๆ ไปจนถึงการสร้างรายงานแบบรายวันเพื่อให้ทำงานและวางแผนได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
- ธุรกิจโทรคมนาคม ใช้ RPA ในการรวบรวมและจัดการข้อมูลการโทรศัพท์จากหลากหลายระบบย่อย, สำรองข้อมูลจากระบบต่างๆ, อัปโหลดข้อมูลหรือดึงข้อมูลส่วนที่ต้องการเพื่อทำรายงาน
- แผนก HR ใช้ RPA ในการจัดการข้อมูลเงินเดือน, สวัสดิการ, การบริหาร และรายงานต่างๆ ด้านทรัพยากรบุคคล
- ธุรกิจทั่วไป ใช้ RPA ในการเชื่อมต่อระบบอื่นๆ เข้ากับ ERP ที่มีอยู่ เพื่อให้การอัปเดตข้อมูลระหว่าง Application นั้นเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและถูกต้องรวดเร็ว
Automation Anywhere: โซลูชัน RPA ระดับองค์กร ตอบโจทย์ทั้งการทำงานอัตโนมัติ, การบริหารจัดการ, การรองรับธุรกิจขนาดใหญ่ และความมั่นคงปลอดภัย
Automation Anywhere คือหนึ่งในผู้พัฒนาโซลูชันทางด้าน RPA ที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ด้านการใช้งานระบบ RPA ในธุรกิจองค์กรเป็นหลัก ด้วยจุดเด่นที่เหนือกว่าระบบ RPA อื่นๆ ดังนี้
- มีความง่ายดายในการใช้งาน ทำงานร่วมกับ Application ระดับองค์กรได้เป็นอย่างดี
- มีความสามารถในการเพิ่มขยายระบบ รองรับการเติบโตของธุรกิจได้
- มีความมั่นคงปลอดภัยภายในระบบ ตอบโจทย์การใช้งานในธุรกิจการเงิน
- ผสาน AI, RPA และ Analytics เป็นหนึ่งเดียว รองรับ Digital Workforce ได้อย่างครบวงจร
- สนับสนุนโดยทีมงานระดับมืออาชีพ ประยุกต์ใช้งาน RPA ได้ในธุรกิจทุกอุตสาหกรรม
โซลูชันของ Automation Anywhere นี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นระบบ RPA ขนาดเล็กเพื่อรองรับการทำโครงการทดลองแรกเริ่มก่อนได้ และค่อยเพิ่มขยายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละแผนกที่ต้องการใช้งาน RPA นั้นสามารถแบ่งปันทรัพยากรระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกันได้ ทำให้แต่ละแผนกไม่ต้องลงทุนใน Hardware ซ้ำซ้อนกัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
ในแง่ของความมั่นคงปลอดภัย Automation Anywhere นั้นถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถถูกกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรหรือข้อมูลภายในระบบแตกต่างกันได้ ทำให้ถึงแม้จะมีพนักงานหลากหลายแผนกเข้ามาสร้าง Bot บนระบบเดียวกัน แต่พนักงานแต่ละคนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของกันและกันหรือเข้าถึง Bot ของกันและกันได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญของธุรกิจจะไม่รั่วไหลข้ามแผนกได้อย่างแน่นอน
สำหรับการต่อยอดในอนาคต Automation Anywhere มีโซลูชันทางด้าน AI และสามารถทำงานร่วมกับ AI อื่นได้ ทำให้องค์กรสามารถเริ่มประยุกต์นำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการของการทำ RPA ได้ อีกทั้งระบบยังถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับระบบ Data Analytics ได้ ทำให้การทำงานแบบ Data-Driven ภายในธุรกิจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แบบครบวงจร
ปัจจุบันมีธุรกิจทั่วโลกสร้าง Bot บน Automation Anywhere แล้วมากกว่า 1 ล้านรายการเพื่อทำงานต่างๆ อัตโนมัติแทนพนักงาน ด้วยประสบการณ์กว่า 15 ปีและพนักงานมากกว่า 1,600 คนใน 20 ประเทศทั่วโลก Automation Anywhere จึงได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตระบบ RPA ชั้นนำในระดับโลกในทุกวันนี้
ติดต่อ STelligence ได้ทันที
สำหรับธุรกิจใดที่สนใจนำ RPA ไปใช้งานในธุรกิจ หรือกำลังมองหาเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อมาต่อยอดข้อมูลปริมาณมหาศาลภายในธุรกิจ สามารถติดต่อทีมงาน STelligence เพื่อขอคำแนะนำ, นำเสนอเทคโนโลยี หรือใบเสนอราคาได้ทันทีที่ 02-024-6661 หรือ sales@stelligence.com หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ STelligence ได้ที่ https://www.stelligence.com